ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ







ระบบการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศต่าง ๆ นำมาใช้ แบ่งออกเป็น 3 ระบบ

1. ระบบการเงินซึ่งมีอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นลงเสรี ( Free Exchange Rate ) เป็นระบบที่อัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นหรือต่ำลงได้อย่างเสรีตามสภาพอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศ โดยผ่านกลไกของราคาในตลาด โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล ระบบนี้จะไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนทางการ จะมีแต่อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดเพียงอย่างเดียว และระบบนี้จะไม่มีกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ( Exchange Stabilization Fund : ESF ) ทั้งนี้เพราะอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นลงเสรีจะมีการปรับดุลการชำระเงินให้สู่ระดับสมดุลโดยกลไกของราคาตลาด ซึ่งจะดำเนินอยู่ตลอดเวลา

** ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ไม่นิยมใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเสรี เพราะเหตุ 3 ประการ คือ...
1.ทำให้ความยืดหยุ่นของอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศมีค่าน้อยมาก จะส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปได้มาก ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ
2. เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในอัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศขึ้น มักจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศในทางที่ทับทวีมากขึ้น
3. ในระบบอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นลงเสรีจะมีการเปลี่ยนแปลงในอัตราแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ ก่อให้เกิดการเก็งกำไรจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ อันเป็นผลให้อัตราแลกเปลี่ยนยิ่งห่างไกลจากความสมดุลมากขึ้นแทนที่จะปรับตัวได้
**ภายในระบบการเงินซึ่งมีอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นลงเสรี ค่าแห่งเงินตราของประเทศต่าง ๆ เมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศจะเคลื่อนไหวขึ้นลงเป็นประจำ ซึ่งมีผลเสียต่อการค้าระหว่างประเทศ และอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงขึ้นได้โดยง่าย

2. ระบบการเงินซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนถูกกำหนดให้คงที่ ( Fixed Exchange Rate ) ระบบนี้อาจจำแนกออกเป็น 2 ระบบย่อย คือ

2.1 ระบบมาตรฐานทองคำ ( Gold Standard ) เป็นระบบที่กำหนดหน่วยเงินตราไว้กับทองคำตามน้ำหนักและความบริสุทธิ์ที่กำหนดไว้โดยเงินตราของประเทศนั้น
** Mint Rate คือ อัตราแลกเปลี่ยนในระบบมาตรฐานทองคำที่ได้มาจากการเทียบค่าเงินโดยผ่านน้ำหนักของทองคำ
** อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่อยู่ในระบบมาตรฐานทองคำ จะอยู่ระหว่างจุดทองคำไหลออก ( Gold Export Point ) และ จุดทองคำไหลเข้า
( Gold Import Point )
โดยจุดทองคำจะถูกกำหนดขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายในการขนส่งทองคำเข้า – ออก และอัตราแลกเปลี่ยนทางการ
 ตัวอย่างที่ 1 ค่าขนส่งทองคำจากสหรัฐฯ ไปอังกฤษ หรืออังกฤษไปสหรัฐฯ เท่ากับ 0.02 ดอลลาร์ อัตราแลกเปลี่ยนทางการ 1 ปอนด์ = 2.40 ดอลลาร์
- จุดทองคำไหลออก คือ 1 ปอนด์ = 2.42 ดอลลาร์ ( 2.40 + 0.02 ดอลลาร์ )
- จุดทองคำไหลเข้า คือ 1 ปอนด์ = 2.38 ดอลลาร์ ( 2.40 – 0.02 ดอลลาร์ )
ตัวอย่างที่ 2 ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทในมาตราทองคำเท่ากับ 10 บาท ต่อ 1 ปอนด์ ต่อทองคำ 10 กรัม และค่าขนส่งทองคำ 1 กรัม ระหว่างไทยและอังกฤษ มีอัตราเท่ากับ 0.2 บาท จุดทองคำไหลออกจะเท่ากับเท่าไร
- จุดทองคำไหลออก = อัตราแลกเปลี่ยนทางการ + ค่าขนส่งทองคำ
= 10 + ( 0.2 X 10 ) = 12 บาท
** จุดทองคำไหลออกมีค่าเท่ากับ 12 บาท ต่อ 1 ปอนด์
** ประเทศที่อยู่ในระบบมาตรฐานทองคำ เมื่อมีการสั่งสินค้าเข้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องส่งทองคำออกไปชำระค่าสินค้าที่สั่งเข้ามาก ซึ่งจะทำให้ทุนสำรองที่เป็นทองคำน้อยลง และทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนของประเทศลดลงด้วย เมื่อปริมาณเงินลดลงแล้ว หากปริมาณสินค้าในตลาดมีจำนวนเท่าเดิม จะทำให้ราคาสินค้าโดยทั่วไปลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศสามารถส่งสินค้าออกไปขายได้มากขึ้น และจะสั่งเข้าน้อยลง เพราะประชาชนจะหันมาซื้อสินค้าภายในประเทศ ซึ่งมีราคาต่ำกว่ามากขึ้น
** ประเทศใดจะอยู่บนมาตรฐานทองคำได้ จะต้องอยู่ในเงื่อนไขสำคัญ 3 ประการ
1. ต้องกำหนดหน่วยเงินตราไว้กับทองคำที่เรียกว่า “Gold Parity” และมี ทุนสำรองเงินตราเป็นทองคำเพียงอย่างเดียว
2. ธนาคารกลางจะรับซื้อหรือขายทองคำตามอัตราทางการโดยไม่จำกัดจำนวน
3. การซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำจะต้องเป็นไปโดยเสรี
** ประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนตั้งอยู่บนมาตรฐานทองคำ อาจประสบปัญหาการขาดแคลนทองคำ และถ้าราคาทองคำเปลี่ยนแปลงไป อัตราแลกเปลี่ยนก็จะผันแปรตามไปด้วย ประเทศที่ยึดระบบมาตรฐานทองคำจึงมักประสบปัญหาการขึ้นลงของราคาทองคำอยู่เสมอ จนกระทั่งต้องออกจากมาตรฐานทองคำและหันไปใช้ระบบมาตราปริวรรตทองคำแทน
2.2 ระบบมาตราปริวรรตทองคำ ( Gold Exchange Standard ) เป็นระบบที่ประเทศต่าง ๆ เคยนิยมใช้ ประเทศที่อยู่ภายใต้ระบบนี้จะต้องเป็นสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( International Monetary Fund : IMF และต้องกำหนดเงินตราของตน 1 หน่วย ให้มีค่าเทียบกับทองคำจำนวนหนึ่ง หรือกำหนดค่าเงินตราของตนเทียบเท่ากับเงินตราสกุลที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ เช่น
- 1 ดอลลาร์ เทียบทองคำบริสุทธิ์ไว้หนัก 0.736662 กรัม
- 1 บาท เทียบทองคำบริสุทธิ์ไว้หนัก 0.038331 กรัม
** ดังนั้น อัตราแลกเปลี่ยนโดยผ่านทองคำจะเท่ากับ 1 ดอลลาร์ ต่อ 20 บาท เรียกว่า “ค่าเสมอภาค” ( Par Value ) ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนทางการที่กำหนดไว้ตายตัวโดย IMF และประเทศสมาชิกจะต้องตั้งกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน ( ESF ) ขึ้น เพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดให้อยู่ในช่วง Support Point ซึ่งถูกกำหนดไว้ให้สูงกว่าค่าเสมอภาคได้ไม่เกิน + 2.25 เปอร์เซ็นต์ ดังนี้
- Upper Support Point คือ 1 ดอลลาร์ : 20 + (2.25 X 20) = 20.45 บาท
- Lower Support Point คือ 1 ดอลลาร์ : 20 – (2.25 X 20) = 19.55 บาท
- ถ้าอุปสงค์ในดอลลาร์มีมากกว่าปริมาณดอลลาร์ อัตราแลกเปลี่ยนจะสูง
ESF จะต้องขายดอลลาร์ออกไป
- ถ้าอุปสงค์ในดอลลาร์มีน้อยกว่าปริมาณดอลลาร์ อัตราแลกเปลี่ยนจะต่ำ
ESF จะต้องซื้อดอลลาร์มาเก็บไว้

** ถ้าเกิดกรณีอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดห่างจากอัตราแลกเปลี่ยนทางการมากเกินไปจน ESF แก้ไขไม่ได้ ประเทศสมาชิกอาจต้องแก้ไขโดยการเปลี่ยนแปลงค่าเสมอภาค หรืออาจเพิ่มหรือลดค่าของเงินตรา

** การลดค่าของเงินตรา ( Devaluation ) เป็นการเปลี่ยนแปลงค่าเสมอภาคโดยรัฐ-บาล ทำให้ต้องใช้เงินบาทมากขึ้นเพื่อแลกได้ 1 ดอลลาร์เท่าเดิม เช่น เดิมรัฐบาลประกาศอัตราแลกเปลี่ยนทางการไว้ 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ ต่อมาประกาศลดค่าลดเหลือ 27 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ เป็นต้น

** การเพิ่มค่าของเงินตรา ( Revaluation ) เป็นการเปลี่ยนแปลงค่าเสมอภาคโดยรัฐ-บาลทำให้ต้องใช้เงินบาทน้อยลงเพื่อแลกได้ 1 ดอลลาร์เท่าเดิม เช่น เดิมอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ ต่อมารัฐบาลประกาศเพิ่มค่าเงินบาทเป็น 23 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ เป็นต้น

** การเสื่อมค่าของเงิน ( Depreciation ) หมายถึง การที่เงินตราสกุลนั้นเมื่อคิดเทียบกับเงินสกุลอื่นแล้วมีราคาลดลง ทั้งนี้เกิดจากอุปสงค์และอุปทานของเงินตราเปลี่ยนแปลงไป

** การเพิ่มค่าของเงิน ( Appreciation ) หมายถึง การที่เงินตราสกุลนั้นเมื่อคิดเทียบกับเงินสกุลอื่นแล้วมีราคาสูงขึ้น เช่น เงินดอลลาร์มีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท แสดงว่า เงินดอลลาร์หนึ่ง ๆ จะแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น


3. ระบบการเงินซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนถูกควบคุม ( Exchange Control ) เป็นระบบที่รัฐบาลใช้อำนาจผูกขาดควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การซื้อขายเงินตราต่างประเทศจะตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดขึ้น




BACK
HOME
NEXT


Free Web Hosting